
สภาพอากาศเริ่มเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ฤดูร้อนทำให้อาหารเสียได้ง่าย ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารต้องเน้นความสะอาด ล้างมือก่อนหยิบจับอาหาร หรือยึดหลักสุกร้อนสะอาด เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ
ให้ประชาชนยึดหลัก "สุก ร้อน สะอาด" โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ อาหารที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องอุ่นทุกครั้งก่อนรับประทาน เลือกบริโภคอาหาร น้ำดื่ม และน้ำแข็งที่สะอาด หากมีกลิ่นหรือรสเปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทานต่อ ให้ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานร่วมกัน ล้างมือก่อนหยิบจับอาหาร รักษาความสะอาดของห้องครัว เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากสัตว์ต่างๆ และใช้น้ำสะอาดปรุงอาหาร
สำหรับผู้ประกอบอาหารควรเลือกอาหารที่ผ่านการเตรียมเป็นอย่างดี ไม่ให้มีการปนเปื้อนอาหารโดยใส่ผ้ากันเปื้อน สวมหมวกคลุมผม ไม่พูดคุยหรือไอจามขณะปรุงอาหาร ใช้ถ้วยแบ่งหรือใช้ช้อนกลางส่วนตัว
ผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ ส่วนใหญ่จะมีอาการภายใน 8-12 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร ได้แก่ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสียรุนแรงถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ มีอาการปวดศีรษะรุนแรง อาจมีไข้ร่วมด้วย
การดูแลเบื้องต้นให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ถ้ามีไข้ให้ยาลดไข้-พาราเซตามอล กินอาหารอ่อน ห้ามกินยาหยุดถ่ายอุจจาระ ในรายที่มีอาการถ่ายอุจจาระมาก อาเจียนรุนแรงทำให้ขาดน้ำรุนแรง ผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อกหมดสติได้ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
สสส.
|